วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อาหารยืดอายุไต


อาหารยืดอายุไต

    โรคไตแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

    ไตวายเฉียบพลัน เป็นอาการเฉียบพลันที่มีสาเหตุจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด กระดูก การติดเชื้อในเลือด อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนไต หรือการขาดน้ำอย่างรุนแรง
    โรคไตเรื้อรัง ไตจะเสื่อมประสิทธิภาพอย่างช้าๆ เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแดงแข็ง โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน โรคทางพันธุกรรม เช่น ถุงน้ำในไต

    ผู้ที่เป็นโรคไตชนิดเฉียบพลันต้องรักษาโดยการฟอกเลือด ส่วนอาการป่วยเรื้อรังรักษาด้วยการกินยา และทั้งสองประเภทต้องควบคุมเรื่องอาหารไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบหรือไตเสื่อมเร็วขึ้น

กินอย่างไรเมื่อไตเสื่อม
   โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไตจะต้องควบคุมปริมาณโปรตีน ฟอสฟอรัส และโซเดียม ขณะเดียวกันจะต้องได้พลังงานเพียงพอ ผู้ที่เป็นโรคไตต้องเรียนรู้ว่าควรกินอาหารชนิดใดเพิ่มหรือควรงด

โปรตีน
   ร่างกายต้องใช้โปรตีนสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เมื่อกินโปรตีนแล้วจะเกิดของเสียที่เรียกว่า สารยูเรีย ผู้ป่วยโรคไตจะไม่สามารถขจัดยูเรียได้ตามปกติ จึงกินโปรตีนได้ประมาณวันละ 120-180 กรัม และระวังอาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ (100 กรัมมีโปรตีนประมาณ 30 กรัม ) ปลา (100 กรัมมีโปรตีน16-30 กรัม) ไข่ (1 ฟองมีโปรตีนประมาณ 7 กรัม) ผลิตภัณฑ์นม ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ (½ ถ้วยตวงมีโปรตีน 7 กรัม)

คาร์โบไฮเดรต
   เมื่อลดปริมาณโปรตีนลง จึงต้องได้รับพลังงานทดแทนจากอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเพื่อป้องกันขาดสารอาหาร โดยหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่มีโปรตีน ได้แก่ ซีเรียล ขนมปัง แป้งเมล็ดธัญพืช แนะนำให้กินคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่มีโปรตีน เช่น วุ้นเส้น เส้นเซี่ยงไฮ้ แผ่นแหนมเนือง เป็นต้น กรณีที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคเบาหวานควรปรึกษานักกำหนดอาหารถึงปริมาณที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

ไขมัน
   หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันมะพร้าว กะทิ และไขมันทรานซ์ และเลือกกินไขมันชนิดดีเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกายแทน

ฟอสฟอรัส
   ผู้ป่วยโรคไตจะขจัดฟอสฟอรัสจากเลือดได้ไม่ดี เมื่อระดับฟอสฟอรัส ในเลือดสูงขึ้นจะส่งผลกระทบให้แคลเซียมในร่างกายลดลง กระดูกจะเปราะ แตกหักง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม เช่น นม เนยแข็ง พุดดิ้ง โยเกิร์ต ไอศกรีม (อาจใช้ครีมเทียมแทนนม) เบเกอรี่ ถั่วต่างๆ และเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำอัดลมสีเข้ม โกโก้ ช็อกโกแลต เบียร์ หากฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินไปแพทย์จะให้ยาที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมฟอสฟอรัสร่วมด้วย

โซเดียม
   อาหารที่มีโซเดียมมากทำให้ความดันโลหิตสูงได้ ควรอ่านฉลากอาหาร เพื่อเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ โซเดียมพบมากในอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ เช่น ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ซุปก้อน ผงชูรส น้ำปลา ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ซอสปรุงรส อาหารกระป๋อง ฟาสต์ฟูด อาหารหมักดอง อาหารรมควัน เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก

โพแทสเซียม
   หากมีอาการไตเสื่อมในระยะเริ่มต้นยังไม่จำเป็นต้องจำกัด โพแทสเซียมและปริมาณของเหลว แต่ไม่ควรใช้เกลือเทียมซึ่งมีโพแทสเซียมสูงและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผลิตภัณฑ์นม แอปริคอต อะโวคาโด กล้วย ผลไม้ตระกูลส้ม มันฝรั่ง

วิตามินและเกลือแร่
   หลีกเลี่ยงผักหรือผลไม้ที่มีโปรตีนหรือโพแทสเซียม เช่น ผักสี เข้ม (คะน้า บร็อกโคลี่ ผักบุ้ง)

   ในภาพรวม อาหารโรคไตจะมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันดีเพิ่มขึ้นจากปกติ เพื่อป้องกันน้ำหนักลดและป้องกันกล้ามเนื้อถูกใช้เป็นพลังงาน ส่วนปริมาณอาหารในแต่ละหมวดต้องกินมากน้อยเท่าไรขึ้นอยู่กับสภาวะของไตที่เปลี่ยนไป

ขอบคุณข้อมูลจาก healthandcuisine.com และ http://health.giggog.com/114104

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น